เวลาอยากทำอาหารให้อร่อยขึ้น คุณนึกถึงอะไร
ชื่อของสารพัดเครื่องและผงปรุงรสคู่ครัวอาจปรากฏขึ้นในใจ ทุกวันนี้เรามีตัวช่วยมากมายให้เลือกสรรไม่ขาด
แต่ถ้าถามว่าจะทำอาหารให้อร่อยขึ้นได้อย่างไร โดยยังเป็นมิตรต่อสุขภาพ ผู้ป่วยและเด็กน้อยรับประทานได้อย่างไม่ต้องกังวลใจ ตัวเลือกของคุณอาจเหลือเพียงหยิบมือ
“ถ้าอยากสุขภาพดี อย่ารับประทานอะไรที่ทวดของคุณจะไม่รู้จักว่าเป็นอาหาร”
ไมเคิล พอลแลน นักสื่อสารเรื่องอาหาร เคยเขียนประโยคนี้ไว้ ทุกวันนี้อาหารแต่ละมื้อของเรา มักอุดมด้วยสารเคมีสังเคราะห์จากกระบวนการอุตสาหกรรมที่คนทั่วไปอ่านชื่อไม่ค่อยถูกในครั้งแรก ซึ่งช่วยให้อาหารมีคุณสมบัติพิเศษหรืออร่อยขึ้น ชักชวนให้อยากกลับมาลองอีกครั้ง แต่บางอย่าง สะสมไปเรื่อย ๆ ร่างกายจะโกรธคุณแน่
‘Carechoice’ คือแบรนด์ผงปรุงรสจากผักปลอดสารผสมวัตถุดิบธรรมชาติและอาหารเสริมเด็ก ที่เกิดขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหานี้ รวมกว่า 80 ผลิตภัณฑ์
ก่อตั้งภายใต้บริษัทชื่อ ด.เด็กกินผัก โดย อ๋า-ธีระวุธ ศิริทองนภา อดีตนักออกแบบภายใน ร่วมด้วย ป้อม-กิตติมา ทองเกตุ อดีตผู้บริหารสถาบันการเงินและภรรยา ที่ฝันอยากเห็นคนไทยรับประทานอาหารอย่าง ‘อร่อย สบายใจ ไร้ผงชูรส’
หากพลิกหลังซองหรือกล่องดูฉลากโภชนาการแล้ว คุณและรุ่นทวดจะรู้จักว่าผัก ปลาแต่ละตัวของ Carechoice คืออะไร ไม่มีการแต่งเติมสารเคมีแปลก ๆ และลดโซเดียมลงจากผงปรุงทั่วไปมากสุดถึง 85 เปอร์เซ็นต์
นอกจากคุณค่าทางสุขภาพแล้ว ยังมีด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะผักปริมาณมากที่นำมาผลิต รับมาจากเกษตรกรในท้องถิ่น ช่วยลดอาหารที่อาจตกค้างกลายเป็นเศษเหลืออย่างเปล่าประโยชน์ รวมแล้วเป็นส่วนผสมของแบรนด์ที่น่าสนับสนุน
พวกเขาพยายามตอบภารกิจทั้ง 3 ด้าน พร้อม ๆ ไปกับการอยู่รอดทางธุรกิจได้อย่างไร
ชวนเข้าครัวมาเปิดสูตรและปรุงไปด้วยกัน
01
แรงบันดาลใจที่กลายเป็นการลงมือทำ
“ตอนแรกไม่ได้ตั้งใจทำผงปรุงรส แค่อยากแก้ปัญหาเรื่องเศษอาหาร” อ๋าเล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ไม่ได้แพลนไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน
เดิมคุณแม่ของอ๋าค้าขายผักเป็นอาชีพอยู่แล้ว เมื่อเติบโตทางหน้าที่การงานถึงจุดหนึ่ง อ๋ามองว่าน่าจะช่วยต่อยอดธุรกิจของแม่ ประกอบกับความฝันที่อยากเป็นเจ้าของกิจการ เขาจึงลาออกจากวงการดีไซน์ มาสร้างโรงงานตัดแต่งผักที่จังหวัดราชบุรี เน้นส่งให้ร้านอาหารและโรงงานอุตสาหกรรม อาศัยการบริการที่ละเอียดลออตามความต้องการของลูกค้าเป็นจุดขาย
แต่แม้ประณีตสุดชีวิตแค่ไหน การสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งนั้นทำยาก และโรงงานอุตสาหกรรมมักมีมาตรฐานการรับผลผลิตที่ตายตัว เช่น ต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกี่เซนติเมตร ก้านต้องตัดให้สั้นไม่เกินเท่าไร รูปลักษณ์ต้องสวยโดนใจ ถ้าสุ่มตรวจเจอผลผลิตที่ไม่ตรงตามกำหนดแม้เพียงเล็กน้อย ก็เสี่ยงถูกคัดทิ้ง ตีกลับยกล็อต ทั้งที่จริง ผักเหล่านั้นยังถือว่าคุณภาพใช้ได้ ปลอดภัยต่อการรับประทาน
เราจะเปลี่ยนชะตาชีวิตของผักอายุสั้น ๆ เหล่านี้อย่างไรดี เป็นคำถามที่เกิดขึ้นในใจอ๋า
การเดินทางไปแถบชานเมืองของแดนอาทิตย์อุทัย เป็นคำตอบที่เขาพาตัวเองไปค้นพบ
“เราไปเที่ยวญี่ปุ่นแล้วต้องหลบหิมะในวัด มีคนแจกซุปไชเท้าต้มให้เรา ซึ่งอร่อยมาก ถามเขาว่าใส่อะไรไป เขาบอกว่าไม่ได้ใส่อะไรพิเศษเลย เป็นรสชาติของธรรมชาติ”
อูมามิ คือรสชาติกลมกล่อมที่จุดประกายอ๋าให้ศึกษาเรื่องนี้จริงจัง เป็นรสชาติที่ห้าที่มนุษย์รับรู้ได้ นอกเหนือจากความหวาน เค็ม เปรี้ยว ขม ในกรณีนี้ เกิดจากน้ำซุปดาชิที่อยู่คู่ครัวชาวญี่ปุ่นมาเนิ่นนาน มักปรุงจากวัตถุดิบจากธรรมชาติอย่างปลาคัตสึโอะ สาหร่ายคอมบุ เห็ดชิตาเกะ
หรือจะใช้กรรมวิธีทางอุตสาหกรรมผลิตเป็นผงชูรสในปริมาณมากอย่างรวดเร็วแทนก็ได้ แต่ต้องใส่สารพัดสารสังเคราะห์เข้าไป
“เราน่าจะทำได้เหมือนกันจากผักที่มี แบบที่ไม่ต้องใช้ผงชูรส”
นี่น่าจะเป็นโมเมนต์ยูเรก้าแบบอ๋าร์คิเมดิส
จริง ๆ ในวัตถุดิบอาหารไทยอย่างกะปิ ปลาร้า ก็อุดมด้วยรสอูมามิ แต่เราจะไม่ค่อยเห็นที่เป็นผงจากวัตถุดิบธรรมชาติที่รวมหลากรสและใช้ได้กับหลากหลายเมนู
เมื่อเกิดแรงบันดาลใจ เขากลับมาใช้เวลาเดินสำรวจซูเปอร์มาร์เก็ต และพบว่าโซนผงปรุงรสเป็นพื้นที่ที่คนไทยชอบแวะเวียนมาจับจ่ายใช้สอยจริง แต่ส่วนใหญ่ยังเต็มไปด้วยสารปรุงแต่ง น่าจะยังมีตลาดรองรับสิ่งที่เขาฝันถึง
แล้วจะรออะไรล่ะ
02
ความหนักแน่นในจุดยืนเป็นสิบปี
“ผมลองผสมนู่นนี่และชิมเองน่าจะเป็นพัน ๆ หมื่น ๆ ครั้งแล้ว” นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ผู้ฝึกปรือฝีมือด้วยตัวเองกล่าว
เนื่องจากอ๋าไม่ได้เรียนสายอาหารโดยตรง แต่อยากเข้าใจกระบวนการผลิตอย่างลึกซึ้ง เขาจึงเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่ธรรมชาติของผักแต่ละชนิดว่ารสชาติเป็นอย่างไร ปลูกและเก็บเกี่ยวฤดูกาลใดบ้าง เพื่อตามหาส่วนผสมที่ลงตัว โดยช่วงแรกอาศัยการรับผักปลอดสาร เช่น หัวไชเท้าที่เป็นองค์ประกอบสำคัญ จากเกษตรกรภายในจังหวัดราชบุรี ในฤดูกาลที่มีผลผลิตจำนวนมากและเสี่ยงต่อการขายไม่หมด มาทำการทดลอง
ใช้เวลาควบคู่ไปกับการบริหารโรงตัดแต่งผักอยู่เกือบ 3 ปี Carechoice สูตรดั้งเดิมจึงแจ้งเกิด
“คนอาจสงสัยว่าทำไมเราใช้เวลาเยอะจัง เปลี่ยนผักสดให้เป็นผงแห้งไม่น่ายาก
“ความท้าทายอยู่ที่ความตั้งใจของเรา เราต้องการใช้วัตถุดิบธรรมชาติล้วน ๆ แปลว่าต้องไม่ใส่สารป้องกันการจับตัวเป็นก้อน ไม่เจือปนสารเคมีสังเคราะห์ใด ๆ ในขณะเดียวกันก็ควรมีอายุอยู่ได้นานเป็นปี และไม่เปลี่ยนสภาพ ไม่จับตัวเป็นก้อน เมื่อแกะซองแล้วอยู่ภายใต้ค่าความชื้นหนึ่ง แถมยังต้องอร่อย”
เหมือนการทำน้ำจิ้มของร้านอาหาร การพัฒนาสูตรให้เสร็จสิ้นเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่ง แต่การทำให้มีคุณสมบัติตามต้องการ รสชาติถูกปาก ติดตรึงใจคน จนเป็นเอกลักษณ์ประจำแบรนด์ ไม่ใช่โจทย์ง่ายเลย
แม้ต้องใช้เวลานานมาก แต่อ๋าไม่คิดหันเหไปใช้ทางลัด ยึดมั่นการใช้เพียงวัตถุดิบจากธรรมชาติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้บริโภค
อีกส่วนคือ ใช้เป็นจุดเด่นที่ธุรกิจรายเล็กจะหาที่ยืนของตัวเอง ในตลาดที่มียักษ์ใหญ่ครองตลาด
“ถ้าบริษัทรายใหญ่อยากผลิตผงปรุงรสจากวัตถุดิบธรรมชาติจริงจัง เขาจะต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่ต่างไปจากปัจจุบันเลย เหมือนการผลิตสูตรที่ได้รับรองฮาลาล ก็ใช้คนละกรรมวิธีกับสูตรทั่วไป ซึ่งขั้นตอนพวกนี้อาศัยการลงทุน อาจไม่คุ้มค่ากับการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่”
เมื่อเจอช่องว่าง และหาทางอบ บด ผสม จนเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตัวเองและคนใกล้ตัวคิดว่าช่วยปรุงให้อาหารอร่อยได้จริงแล้ว ถึงเวลาออกไปพิสูจน์ให้โลกเห็น
03
การเรียนรู้อยู่เสมอ
“เราเคยไปเสนอสินค้าให้ซูเปอร์มาร์เก็ตแล้วพอเดินออกมา เห็นฝ่ายจัดซื้อโยนทิ้งลงถังขยะเลย”
คงเป็นภาพน่าเจ็บปวดใจไม่น้อยสำหรับผู้ประกอบการ เมื่อผลิตภัณฑ์ที่เราตั้งใจพัฒนาและมองว่าพิเศษ ไม่ได้มีความหมายสำหรับคนอื่นเหมือนที่เราคิด
แต่อาจไม่น่าแปลกใจมาก เพราะเมื่อ 7 – 8 ปีก่อน กระแสอาหารเพื่อสุขภาพยังไม่ได้รับความนิยมเท่าทุกวันนี้ และการสร้างความน่าเชื่อถือสำหรับแบรนด์เกิดใหม่ เป็นด่านที่ต้องฝ่าฟันอยู่พักใหญ่
จนกว่าเราจะเจอพื้นที่ของตัวเอง
“เรารู้สึกว่าผลิตภัณฑ์นี้ไปต่อได้ เพราะพอเราออกบูทครั้งแรกที่ BITEC จำความรู้สึกได้ชัดเลย มีคนสนใจ ไม่รู้ว่ามีสินค้าแบบนี้ด้วย แต่ก็มีฟีดแบ็กกลับมาว่า รสชาติจืดไปหน่อย หน้าตาแพ็กเกจจิ้งไม่สวย เรารับความคิดเห็นเหล่านั้นกลับมาพัฒนาต่อ”
ขั้นตอนลองผิดลองถูกนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น ช่วงแรก ๆ อ๋าไม่ได้รู้วิธีการเสนอสินค้าเข้าร้านค้าปลีก ต้องปรับผลิตภัณฑ์และกระบวนการอยู่หลายรอบ กว่าจะได้รับอนุมัติวางจำหน่ายที่ธุรกิจค้าปลีกรายแรก ๆ อย่าง Tops Supermarket และ Lemon Farm
นอกจากการขายสินค้าแล้ว เขาพยายามสอดแทรกเรื่องราว ความตั้งใจของแบรนด์ รวมทั้งไอเดียทำเมนูอาหารไปไว้ในแพ็กเกจจิ้งด้วย
พอเริ่มเป็นที่รู้จัก มีจุดเด่นที่ชัด ก้าวต่อไปก็เริ่มง่ายขึ้น
ปัจจุบัน Carechoice วางอยู่บนเชลฟ์โมเดิร์นเทรดชั้นนำหลายราย เช่น Gourmet Market, Makro, Villa Market เคียงข้างกับผงปรุงรสชื่อดัง
04
มีลูกค้าเป็นเพื่อน
งง ๆ อาจเป็นความรู้สึกแรกของลูกค้าที่เพิ่งรู้จัก Carechoice ช่วงนี้
เพราะปัจจุบัน แบรนด์มีผลิตภัณฑ์หลากหลาย มีทางเลือกที่ตอบโจทย์คนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น อาจต้องใช้เวลาทำความรู้จักกันสักนิด
แต่สูตรเกือบทั้งหมดไม่ได้คิดเองเออเอง ล้วนมาจากการฟังความต้องการของลูกค้า ประกอบกับสัญชาตญาณ ความช่ำชอง
“เรานั่งอ่านคอมเมนต์และคุยกับลูกค้า เช่น คนถามว่าเราไม่มีสูตรเจหรอ เลยพัฒนาสูตรเห็ดหอมขึ้นใหม่ ตอนแรกเราขายแค่แบบกล่อง คนถามว่าไม่มีแบบซองให้ใช้ง่าย ๆ หรอ เราก็มาเน้นผลิตแบบซองมากขึ้น วันดีคืนดีคนถามว่าเราไม่มีสูตรสำหรับให้เด็กอ่อนโดยเฉพาะหรอ เขาอยากได้ เลยทำผงปรุงรสที่เสริมแคลเซียมและธาตุเหล็ก และทำอาหารเสริมสำหรับเด็ก ทั้งเนื้อสัตว์ ธัญพืช ผักรวมบดผง
“พอผ่านการชิมอาหารเยอะ ๆ หลัง ๆ จะทำได้เร็วขึ้น บางทีแค่ดมกลิ่นจะรู้เลยว่าสูตรนี้ คนชอบแน่นอน”
แบ่งคร่าว ๆ จักรวาลผลิตภัณฑ์ของ Carechoice ครอบคลุม 4 กลุ่มหลัก
หนึ่ง คนทำอาหารทั่วไปที่ใส่ใจเรื่องสุขภาพ อยากปรุงอาหารให้อร่อยโดยไม่ต้องกังวลเรื่องผงชูรส มีทั้งสำหรับปรุงอาหารทั่วไปที่ลดโซเดียมลงจากเครื่องปรุงปกติ ทำได้ทั้งต้ม ผัด ตุ๋น แกง ปรุงน้ำซุป หมักเนื้อสัตว์ และสูตรปรุงสำเร็จ เช่น น้ำยำแซ่บ ลาบน้ำตก
สอง คนทำอาหารแบบคลีนและคีโตเจนิก มีสูตรที่ลดโซเดียมสูงสุดถึง 85 เปอร์เซ็นต์ ไม่ใส่แป้งและน้ำตาล ช่วยเติมรสชาติให้มื้อที่เบื่อ ๆ
สาม (ผู้ดูแล) ผู้ป่วยโรคไต เบาหวาน ความดัน กับสูตรที่ไม่เติมเกลือและน้ำตาลเลย มีโซเดียมแค่ 10 มิลลิกรัมจากผัก ซึ่งน้อยมาก และไม่ได้ใช้โพแทสเซียมคลอไรด์ที่อาจมีผลต่อโรคไต ตอบโจทย์ความทรมานของคนกลุ่มนี้ที่ต้องควบคุมการรับประทานอาหารเคร่งครัด
“มีคนที่ต้องดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ติดต่อเข้ามาซื้อผลิตภัณฑ์ ปรึกษา และขอบคุณเราเยอะมาก ผงนี้ช่วยให้คนที่เขารักเจริญอาหาร และผ่านแต่ละมื้อไปได้อย่างมีความสุขมากขึ้น” อ๋ากล่าวถึงความประทับใจที่ผลิตภัณฑ์ของเขามีผลต่อชีวิตประจำวันของคนจริง
และสี่ แม่ที่ต้องเตรียมอาหารให้ลูกน้อยวัย 6 เดือนขึ้นไป ช่วยคลายความกังวลว่าลูกจะได้รับสารอาหารเพียงพอหรือเปล่า อาหารจะถูกปากลูกไหม โดยไม่ทำให้ลูกติดใจรสใดรสหนึ่งมากเกินไป ประหยัดเวลาการปรุงอาหาร
เมื่อลองเปิดดูยอดขาย พบว่ามีตัวที่ขายดีเป็นดาวเด่นเสมอมา และตัวที่ค่อนข้างขายลำบาก ปะปนกันเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งนี้เป็นเสียงสะท้อนของลูกค้าที่ทำให้แบรนด์รู้ตำแหน่งของตัวเองในตลาด และปรับตัวได้อย่างเหมาะสม
“ต้องรู้จักตัวเองและฟังลูกค้าไปพร้อมกัน เราทำสูตรตัวหนึ่งออกมาที่คิดว่าตรงกับเทรนด์ของโลก แต่ปรากฏว่าลูกค้าไม่ได้คาดหวังสิ่งนี้จากเรา และไม่ได้เป็นสูตรที่ถนัดด้วย มันก็ไปได้ไม่ดีเท่าที่คิด”
การแคร์ชอยส์ของลูกค้าจึงเป็นเรื่องสำคัญ
05
ทีมที่เข้ากันได้ดี
“เราไม่ค่อยรู้เรื่องการตลาดเลย” หนุ่มผู้ทุ่มเทชีวิตให้กับการผลิตผงปรุงรสเอ่ยถึงจุดบอดในมุมมองของตัวเอง ใครเล่าจะถนัดทุกด้าน
แต่เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้น มีคนที่เพียงได้รู้จัก Carechoice สักครั้ง จะยินดีสนับสนุนเต็มที่อยู่จำนวนไม่น้อย อ๋ารู้ว่าตัวเองต้องการกำลังเสริม
ป้อม ภรรยาที่อยู่เคียงข้างเขาและเห็นการเดินทางของ Carechoice มาโดยตลอด ตัดสินใจลาออกจากสถาบันการเงินใหญ่เมื่อ 4 ปีก่อน เข้ามาบริหารธุรกิจเต็มตัว
“เราอยากมาช่วยลุยเต็มที่ เพราะเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาไปต่อได้อีกเยอะ” ป้อมกล่าวผ่านทางโทรศัพท์มาจากเชียงใหม่ เนื่องจากต้องดูแลลูกแฝดที่เพิ่งคลอดเมื่อไม่นานมานี้
“เราสองคนต่างกันมาก เราจะติสต์ ๆ หน่อย ส่วนป้อมเขาเก่งมากและเป็นคนจริงจัง ทำให้มีสิ่งที่มองไม่เหมือนกันอยู่บ้าง แต่เราฟังกันและแบ่งชัดว่าใครตัดสินใจเรื่องอะไร” อ๋าเสริมเคล็ดลับการทำงานร่วมกัน ทั้งในฐานะครอบครัวและเพื่อนร่วมงาน
การบริหารของป้อมทำให้ Carechoice ปรากฏตัวตามห้างร้านต่าง ๆ มากขึ้น ได้รับคำเชิญชวนให้ออกรายการโทรทัศน์ จนเป็นที่รู้จักและมีกิจการนับร้อยติดต่อมาให้ช่วยผลิตสินค้า ซึ่งป้อมเลือกรับผลิตให้เพียงรายเดียวและปฏิเสธที่เหลือไปทั้งหมด
รวมทั้งขยายเข้าสู่การขายออนไลน์จริงจัง เช่น ทาง Shopee ต่อยอดจากที่อ๋าเคยทำไว้
ตอนแรกอาจดูไม่ใช่แหล่งรายได้สำคัญ คนอาจเลือกซื้อผงปรุงพร้อมกับวัตถุดิบอาหารอื่นที่หน้าร้านมากกว่า แต่เมื่อลองทำไปเรื่อย ๆ กลับกลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทั่วทั้งประเทศ
ความฝันของอ๋าในวันเริ่มก่อตั้ง ดูใกล้ความจริงขึ้นมาอีกขั้น
06
อิคิไก
“อยากทำให้ Carechoice เป็นเหมือนซุปดาชิของญี่ปุ่น”
สองผู้ประกอบการเล่าถึงหมุดหมายที่อยากปักธงไปให้ถึง เป็นไปได้ไหมว่าผงปรุงรสจากผักและวัตถุดิบธรรมชาติแบบนี้ จะเป็นช้อยส์ที่คนรักสุขภาพนึกถึง และซื้อไว้ติดคู่ครัวเหมือนแบรนด์ใหญ่ที่คนคุ้นเคย
เพื่อไปถึงจุดนั้น อ๋าและป้อมกำลังปรับโครงสร้างองค์กรขนาด 25 คน ให้ทำงานเป็นระบบมากขึ้น พัฒนาสูตรใหม่ที่น่าจะสร้างแรงกระเพื่อมให้เกิดขึ้นในตลาด และวางแผนเตรียมส่งออกปีหน้า
การเติบโตของ Carechoice จะไม่เป็นเพียงแค่ความสำเร็จของพวกเขา 2 คนและบริษัทเท่านั้น แต่จะยิ่งได้ช่วยชีวิตผักคุณภาพดีที่อาจกลายเป็นเศษเหลืออย่างไร้เยื่อใย
“ตอนนี้เรารับผักมากกว่า 20 ชนิดมาเป็นวัตถุดิบ ทั้งเห็ดหอม หอมหัวใหญ่ ผักชี กระเทียม สาหร่ายทะเล หล่อฮังก๊วย และเพียงหัวไชเท้าอย่างเดียว ปริมาณที่ใช้ก็มากกว่าปีละหลายร้อยตัน ช่วยลดการสูญเสียโอกาสและสร้างรายได้ให้กับชุมชน” อ๋าย้ำถึงสาเหตุสำคัญที่เขาเริ่มทำธุรกิจ
พร้อมกันนี้ ยังมีผู้บริโภคที่ลิ้มรสชาติความอร่อยได้อย่างสบายกาย สบายใจ
มีคนที่ทำอาหารเพื่อดูแลคนอื่นด้วยความห่วงใย ไม่ต้องนั่งกังวลเรื่องฝีมือ
มีมื้ออาหารที่ช่วยให้ผู้ป่วยผ่านวันยาก ๆ ไปได้ทีละมื้อ ๆ
นี่คือคุณค่าของผงปรุงรสจากผักและวัตถุดิบธรรมชาติซองเล็ก ๆ ที่ราคาเริ่มต้น 25 บาท
ทำอาหารครั้งต่อไป ลองให้ Carechoice เป็นชอยส์ในการปรุงมื้อพิเศษของคุณดีไหมครับ